บทความ

รัฐบาลจากเสียงของประชาชน : วุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย 

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กลุ่มสันติประชาธิปไตย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย” มีสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดย มี ดร. เอกพันธุ์ ปิณฑวิณิช และ คุณณัฏฐา มหัทธนา สมาชิกภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ดำเนินรายการ กิจกรรมเสวนานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งมาจากเสียงของประชาชน อันเป็นแสดงให้เห็นถึงว่า อำนาจอธิปไตยนั้นมาจากปวงชนชาวไทย เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า เมื่อ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยหลายองค์กร ได้ร่วมกับ ผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ ในการจัดงาน ร่วมลงนาม “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง” และ “สัญญาประชาคมของพรรคการเมือง” โดยในสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองมากกว่า 30 พรรคการเมืองได้ให้ไว้แก่ประชาชนนั้นมีทั้งหมด 8 ข้อ โดยข้อแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดย พรรคการเมืองต่างๆ ให้สัญญาว่า จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากวุฒิสภาลงคะแนนสนับสนุนบุคคลที่ไม่ได้รับเลือกจากประชาชนเสียงข้างมาก สวนทางกับ พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทน จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง และ อาจนำไปสู่การชุมนุมประท้วงนอกสภาได้ และ การออกเสียงสวนทางกับพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ก็ยังถือว่า ผิดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานอีกด้วย

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวต่อว่า วุฒิสมาชิกแม้นมาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารแต่สามารถเป็นหุ้นส่วนประชาธิปไตยได้ ร่วมพัฒนาการเมืองให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าต่อไปได้ สามารถหาทางออกการเผชิญหน้าทางการเมืองและแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ด้วยการตัดสินใจทำหน้าที่โดยยึดถือหลักการประชาธิปไตย หลักเหตุและผล ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจ

ตามหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น การให้ความเห็นชอบให้บุุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านกลับมาอยู่ภายใต้บรรทัดฐานอันเป็นสากล ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และกลุ่มสันติประชาธิปไตย จึงเห็นว่าการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย”  จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการนำพาประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และ มติที่เห็นชอบการแต่งต้ังบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง และเข้าสู่กระบวนการในการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันยังมีสิทธิตามบทเฉพาะกาลข้างต้นในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรามีความคาดหวังว่า วุฒิสมาชิกควรออกเสียงเพื่อยืนยันหลักการจัดตั้งรัฐบาลโดยเสียงข้างมากของประชาชน และ ออกเสียงโดยยึดหลักการประชาธิปไตย ยึดการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและลดการเผชิญหน้าทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า องค์กรจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. ที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ความผิดผลาดในช่วงจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ควรเกิดขึ้นอีกในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคน นี้ และ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศช่วยกันสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเสียงประชาชนและโกงการเลือกตั้ง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button